วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ผลงานเรือนไทยจำลองที่ทำเสร็จแล้ว

ภาพเรือนไทยที่ผมทำเสร็จแล้วมาให้ชมกันครับมีทั้งศาลาไทยและเรือนหมู่ด้วยครับคราวหน้าคงจะเริ่มสอนตั้งแต่แบบและสัดส่วนที่สวยงามของบ้านเรือนไทยครับ

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนะนำแหล่งซื้อหาอุปกรณ์ทำเรือนไทยจำลองไม้สัก


แหล่งซื้ออุปกรณ์ของผมก็ที่นี่เลยครับซอยประชานฤมิตรถนนสายไม้ของคนกรุงเทพเป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนประชาราษำร์สาย 1 ทางฝั่งบางโพและถนนกรุงเทพ-นนท์ทางฝั่งบางซื่อผมเข้าทางฝั่งบางซื่อครับจะเป็นชื่อซอยกรุงเทพ-นนท์ 5 ร้านที่ซื้อประจำก็ร้านมงคลการช่างครับราคามาตราฐาน

ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกไม้สักซึ่งจะมีครบเลยตั้งแต่ไม้สักบาง ๆ ขนาด 0.5 มิลลิเมตรจะมีลักษณะเป็นม้วน ๆ มีขนาดความกว้างตั้งแ่ต่ 1 นิ้วถึง 4 นิ้ว ภาษาช่างเรียกไม้วีเนียร์ใช้ปิดพื้นผิวเฟอร์นิเจอร์ ผมเลือกใช้
หลายขนาดเนื่องจากไม้ยิ่งมีขนาดกว้างมากยิ่งมีราคาแพงต้องเลือกให้เหมาะกับชิ้นงานที่จะทำด้วยสำหรับทำตัวเรือนเป็นฝา,จั่ว แผ่นหลังคา ไม้สักหนา 1.0 มิลลิเมตรกว้าง 4 นิ้ว ใช้ทำพื้นเรือน,พื้นชาน ไม้กลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 มิลลิเมตร ใช้ทำเสาเรือน ไม้ขนาด 1.0 คูณ 1.0 ใช้ทำเป็นแปที่ยื่นออกมาจากหน้าจั่วและยังใช้เป็นไม้ลูกกรงรั้วระเบียงเรือน รอดตงใช้ไม้ขนาด 1.0 คูณ 5.0 มิลลิเมตร และก็กาวร้อนก็มีขายด้วย(ราคาถูก) นอกจากนี้ก็มีอุปกรณ์พวกแผ่นยางรองตัดมีดคัตเตอร์ทั้งขนาดเล็กลางใหญ่ กรรไกรตัดเล็บ กรรไกรเหล็ก เลื่อยตัดเหล็กหรือตัดท่อพีวีซีใช้สำหรับตัดเสา กระดาษกาวสองหน้าอย่างบาง กาวลาเท็กซ์ กาวร้อน กระดาษทรายหยาบและละเอียด แล็คเกอร์สเปรย์ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป ตามรูปข้างบน คราวหน้าจะเริ่มสอนแล้วครับ

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

ส่วนประกอบสำคัญของบ้านเรือนไทย

 ส่วนประกอบต่างๆของบ้านเรือนไทยก็มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันเช่น ปั้นลม ,อกไก่,หน้าจั่ว,ใบดั้ง,ดั้ง,กลอน,ไขรา,แปลาน,ขื่อ,สะพานหนู, กันสาด,เชิงชาย,ค้ำยัน,หย่อง,ร่องตีนช้างพรึง,รอด,ร่องตีนแมว,ฝักมะขาม,เชิงกลอนนเรียกต่างกัน ฝาด้านข้างเรียกว่าฝาเรือน ฝาด้านสกัดคือตรงด้านหน้าจั่วเรียกว่าฝาหุ้มกลอง ฝากั้นห้องเรียกว่าฝาประจันห้อง ฝาของระเบียงเรียกว่าฝาระเบียงหรือฝาเสี้ยว ฝาด้านหน้าห้องโถงเรียกว่าฝาเชี่ยนหรือฝาชาน เป็นต้น



 ฝาบ้านแบบต่าง ๆ มีแบบฝาสายบัวมีลักษณะเป็นเส้นยาว ๆ,
แบบฝาปะกนมีลักษณะเป็นข้อสลับกันเหมือนข้ออ้อยซึ่งเป็นฝาแบบที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดของบ้านเรือนไทย, แบบฝาแบบลายขัดแตะก็มีซึ่งใช้ไม้สักหรือไม้เนื้อแข็งเส้นเล็ก ๆสานลายขัดเหมือนกับสานด้วยไม้ไผ่นิยมใช้เป็นเรือนครัวเพราะช่วยเรื่องระบายอากาศ, แบบฝาลูกฟักจะเข้าลูกฟักเหมือนประตูบ้านปัจจุบันซึ่งใช้ไม้หนาจะทำเฉพาะเรือนของเจ้านายหรือผู้มีบรรดาศักดิ์สูง
หน้าจั่วเรือนไทยก็มีหลายแบบเช่นกัน หน้าจั่วแบบลูกฟักที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมวางสลับกันเป็นชั้น ๆ บางทีเรียกหน้าจั่วแบบนี้ว่าพรหมสี่หน้านิยมใช้กับเรือนนอน หน้าจั่วแบบใบปรือก็นิยมทำกันมีลักษณะเป็นฝากระดานแผ่นเล็ก ๆ ซ้อนเกล็ดกันอยู่ ส่วนมาพบในเรือนไทยที่เป็นเรือนแพ หน้าจั่งรูปพระอาทิตย์ มีลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปครึ่งวงกลมตรงกลางและมีรัศมีแผ่ไปรอบ ๆ เหมือนพระอาทิตย์ นิยมใช้กับเรือนครัวเนื่องจากมีช่องระบายอากาศได้ดี





เมื่อประกอบกันเป็นเป็นตัวเรือนแล้วก็จะได้เรือนไทยที่มีลักษณะดังรูป จากภาพด้านล่างนี้เป็นเรือนเดี่ยวที่ประกอบด้วยเรือนนอนขนาดสามห้องหรือสามช่วงเสา และเรือนครัวขนาดสองห้องหรือสองช่วงเสาที่วางอยู่ในแนวขวางกับตัวเรือนโดยเรือนครัวจะมีขนาดเล็กกว่าเรือนนอนและต่ำกว่าเรือนนอนภาพที่ออกมาจึงทำให้เรือนไทยมีมุมมองที่สวยงามมีสัดส่วนที่พอเหมาะพอดีซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ของเรีอนไทยเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ติดตามต่อไปคราวหน้าจะนำภาพเรือนไทยจำลองที่ผมทำเสร็จแล้ว(ทำไว้เมื่อ3-4ปีที่แล้ว) มาให้ชมและจะเริ่มแนะนำเรื่องอุปกรณ์และแหล่งที่ซื้อหาอุปกรณ์ต่าง ๆ พบกันคราวหน้าครับ

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

การจัดวางผังบ้านเรือนไทย

บ้านเรือนไทยจะสร้างเป็นหลัง ๆ ตามประโยชน์การใช้สอย เช่น เป็นเรือนนอน เรือนครัว หอนั่ง หอกลาง หอพระ หอนก ฯลฯ โดยสร้างแยกกันเป็นหลัง ๆ เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงและชาน และสามารถต่อเติมและขยายออกไปได้เรื่อย ๆ ตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น โดยเริ่มแรกก็อาจมีเพียงเรือนนอน และเรือนครัว ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนเดี่ยว ต่อมามีสมาชิกเพิ่มก็อาจสร้างเรือนนอนเพิ่ม หรืออาจสร้างหอนั่ง หอพระ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ก็จะเป็นเรือนหมู่ ถ้ามีเรือนหลายหลังและมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลาย ๆ หลัง ก็จะเป็นเรือนคหบดี โดยใช้เรือนนอนหลังใหญ่ของเจ้าของบ้านเป็นศูนย์กลางและเรือนหลังอื่น ๆ อยู่รายล้อมโดยมีชานตรงกลางเป็นตัวเชื่อมและเป็นที่ใช้สอยร่วมกัน ขนาดของเรือนจะเล็กใหญ่และสูงต่ำไม่เท่ากันตามความสำคัญของผู้อยู่อาศัยและประโยชน์ใช้สอย มีการวางทิศทางไปทั้งแนวนอนและแนวขวาง ทำให้เรือนไทยมีความสวยงามมีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามไปอีกแบบหนึ่ง การจัดวางตัวเรือนไปในทิศทางต่าง ๆ และขนาดเล็กใหญ่และสูงต่ำไม่เท่ากันทำให้เกิดมุมมองและทัศนียภาพที่สวยงาม รูปทรงหลังคาจั่วที่โค้งลาดลง เสาเรือนที่สอบเข้าหากัน ไม่เป็นเส้นตรง ทำให้ดูอบอุ่นน่าอยู่อาศัยและกลมกลืนไปกับธรรมชาติรอบ ๆที่เป็นต้นไม้หรือแม่นำลำคลอง ตัวอย่างการวางผังตามที่ปรากฏดังรูป คราวต่อไปจะเรื่องส่วนประกอบของบ้านเรือน ติดตามได้ตอนต่อไปครับ

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

เรือนไทยภาคกลางเอกลักษณ์ที่งดงาม

เรือนไทยภาคกลางมีเอกลักษณ์ที่งดงามต่างจากเรือนไทยภาคอื่น ๆ สร้างด้วยไม้เนื้อดีพวกไม้สักและไม้เนื้อแข็งเป็นส่วนใหญ่ หลังคามีลักษณะเป็นทรงจั่วยอดแหลมทรงจอมแห คือมียอดแหลมแล้วค่อย ๆลาดลงในลักษณะโค้งลงนิด ๆ ไม่เป็นเส้นตรงเสียทีเดียว บวกกับที่ปลายจั่วมีปั้นลมแบบตัวเหงาขึ้นมารับมีลักษณะสบัดเหมือนชายธง อ่อนช้อยกลมกลืนและสอดรับกับรูปทรงจั่วอย่างกลมกลืนฝาบ้านทำเป็นแผงเรียกว่าฝาปะกนเท่ากับขนาดของช่วงเสาโดยเสาทุกต้นสอบเข้าหากันเล็กน้อยประกอบกันเข้าด้วยการเข้าเดือยไม้ไม่ได้ใช้ตะปู และเชื่อมบ้านแต่ละหลังด้วยระเบียงและชานมีใต้ถุนสูง และสามารถสร้างเพิ่มขยายได้ตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น มีสัดส่วนที่สวยงาม เรือนไทยที่ได้รับการยกย่องว่างดงามเป็นฝีมือช่างชั้นครู คือเรือนทับขวัญปัจจุบันเรียกพระตำหนักทับขวัญ อยู่ในพระราชวังสนามจันทร์ และเรือนต้นในพระราชวังดุสิต คราวหน้าจะกล่าวถึงส่วนประกอบและการจัดหมู่เรือนไทย โปรดติดตามต่อไปด้วยนะครับ

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

ลักษณะของบ้านเรือนไทย














ลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยบ้านเรือนไทยแบ่งออกเป็นสองประเภทคือเรือนเครื่องผูกที่ทำจากไม้ไผ่และหญ้าคานำมาผูกมัดกันมีแบบไม่ถาวร


















และอีกประเภทคือเรือนเครื่องสับซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็งส่วนใหญ่เป็นไม้สักนำมาเข้าไม้ด้วยการบาก เจาะ สลัก ลิ่ม โดยไม่ได้ใช้ตะปูเลย การก่อสร้างเป็นแบบสำเร็จรูปคล้ายบ้านน็อคดาวน์โดยสร้างฝาผนัง หน้าจั่วเป็นแผง ๆ ก่อน แล้วจึงนำมาประกอบเป็นตัวเรือน สมัยก่อนจะประกอบให้เสร็จภายในวันเดียว และสามารถถอดชิ้นส่วนไปประกอบที่อื่นได้ เช่นย้ายไปอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง หรือย้ายหนีเวลามีศึกสงคราม